สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ขี้เถ้า... พลัดถิ่น

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 20 ส.ค. 2552

สวัสดีจ๊ะ ฉันชื่อพี เกิดที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

            ตอนที่ฉันอยู่ที่โตเกียวหนะเหรอ... ฉันเป็นกระดาษที่สวยมาก คนญี่ปุ่นใช้ฉันห่อกล่องของขวัญเวลาที่เขามอบของขวัญให้กัน ฉันทำให้พวกเขาประทับใจอย่างมาก แต่สิ่งที่เขาอยากเห็นมากกว่าคือของขวัญที่อยู่ข้างใน กระดาษห่อของขวัญอย่างฉันก็เลยถูกแกะออก แม้ว่าเขาจะค่อยๆ แกะแล้ว แต่ฉันก็ยังถูกฉีกขาดอยู่ดี ฉันเลยได้ที่อยู่ใหม่เป็นถุงขยะใบน้อยในห้องนั่นเอง แล้วฉันก็กลายเป็นขยะตั้งแต่ตอนนั้นแหละ

เป็นขยะแล้วไปไหน?

            ฉันอยู่ในถุงอย่างนั้นจนมาวันหนึ่ง เขาก็เอาถุงขยะที่ฉันอยู่มาวางที่ข้างถนนพร้อมกับถุงอื่น ๆ จากนั้นก็มีคนแต่งชุดสีน้ำเงินมาเก็บฉันขึ้นรถคันโต เขาตระเวนเก็บถุงแบบเดียวกับที่ใส่ฉันไปทั่วเมือง รถคันโตพาฉันไปที่แห่งหนึ่งเป็นอาคารที่มีลานกว้าง ๆ ฉันถูกเทออกจากรถลงไปกองอยู่บนลานนั้นเอง

            ขยะกระดาษแบบฉัน เขาบอกว่าเป็นขยะแบบที่เผาได้ พวกที่เป็นเศษอาหารเขาก็เอาไปเผาเหมือนกัน ส่วนขยะพลาสติกทั้งหลายเขาไม่เอาไปเผา แต่เขาจะเอาไปฝังดินเลย ดังนั้น ฉันเลยถูกส่งไปเข้าเตาเผา เขาเผาฉันด้วยไฟที่ร้อนมากๆ เขาเผาจนฉันกลายเป็นขี้เถ้าดำ ๆ

            พวกขี้เถ้าดำๆ นี่เขาจะเอาไปปูอัดเป็นพื้นหลุมฝังกลบขยะ เพราะเขาบอกว่าพื้นมันจะได้แน่นๆ บางส่วนก็เอาไปหลอมทำเป็นของใช้ เช่น พวกอิฐตัวหนอน แต่ก็มีบางส่วนที่ส่งออกมายังประเทศอื่นๆ ก็อย่างฉันนี่ไง

ฉันมีเพื่อนเยอะ

            โตเกียวมีขยะอย่างฉันเยอะมาก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศของฉันก็เร่งพัฒนาทุกสิ่งอย่างจนเกิดการผลิตอย่างมากมาย การกิน การใช้ อย่างล้นเกิน ดังนั้นจึงมีขยะที่ต้องกำจัดอย่างมหาศาลตามไปด้วย ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2523 ก็เริ่มคงที่ เนื่องจากมีปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง จากนั้นก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก ปริมาณขยะที่มากที่สุดอยู่ที่ 4.9 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณขยะในปี พ.ศ.2532 พอถึงตรงนี้ พวกเราเริ่มถูกคุมกำเนิดอย่างจริงจัง จึงทำให้พวกเราเกิดน้อยลง ในปี พ.ศ.2550 ผู้คนที่โตเกียวผลิตขยะจากการกินการใช้ของพวกเขาออกมารวมกันได้ประมาณ 3.2 แสนตัน ดูเหมือนการคุมกำเนิดจะได้ผลนะ


รูปที่ 1 ปริมาณขยะของโตเกียวในช่วงปี ค.ศ. 1945 - 2000
ที่มา : http://www2.kankyo.metro.tokyo.jp/kouhou/env/eng_2006/chapter4_2.html

ทำไมต้องคุมกำเนิดขยะ

            ที่โตเกียว ขยะจากบ้านเรือนจะถูกจัดการตามลักษณะของขยะเป็น 3 ส่วนคือ ขยะที่เผาไหม้ได้ ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ และขยะที่รีไซเคิลได้ ขยะทั้ง 3 ประเภทจะต้องแยกกันทิ้งตามวิธีที่เมืองโตเกียวกำหนด ขยะรีไซเคิลจะส่งไปโรงงานรีไซเคิล ส่วนที่ต้องกำจัดจะเป็น 2 ส่วนแรก นอกจากขยะบ้านเรือนแล้ว ยังมีขยะจากอุตสาหกรรมบางส่วนด้วยนะ

            ขยะที่เผาไหม้ได้ จะหมายถึงพวกขยะทั่วไปในบ้าน เช่น เศษอาหาร เศษกระดาษ ขยะพวกนี้จะถูกเก็บขึ้นรถแล้วนำไปเผาในเตาเผาขยะ การเผาจะทำให้เหลือเศษที่ต้องฝังน้อยลง เขาบอกว่าขยะ 100 กิโลกรัม เผาแล้วจะเหลือขี้เถ้าประมาณ 14 กิโลกรัม ขี้เถ้านี้จะถูกนำไปฝังกลบเป็นหลัก มีบางส่วนที่เอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น ส่วนขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ ได้แก่ พวกพลาสติกต่าง ๆ ขยะพวกนี้ ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ ๆ เขาจะเอามาบดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยขนขึ้นรถไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบ

สุดท้ายจะไปรวมกันที่หลุมฝังกลบ

            หลุมฝังกลบขยะของโตเกียวจะอยู่แถวอ่าวโตเกียว เขาจะเอาขยะไปถมในทะเลสร้างผืนแผ่นดินขึ้นมาใหม่ ถึงปัจจุบันโตเกียวมีหลุมฝังขยะทั้งหมด 7 แห่ง (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) เป็นหลุมที่ฝังขยะจนเต็มไปแล้ว 5 แห่ง หลุมฝังกลบหลุมแรกนี่เต็มไปตั้งแต่ 44 ปีที่แล้ว ราว ๆ ปี พ.ศ. 2508 ฝังขยะไปทั้งหมด 3.7 แสนตัน ถัดมาอีก 2-3 ปี หลุมฝังกลบที่ 2 ก็เต็ม หลุมนี้ใหญ่กว่าหลุมแรกรับขยะไปประมาณ 10.3 แสนตัน ประมาณปี พ.ศ. 2520 หลุมที่ 3 ก็เต็มอีก หลุมนี้ยิ่งใหญ่กว่าหลุมที่ 2 อีก เพราะรับขยะไปทั้งหมด 18.4 แสนตัน หลุมที่ 3 นี่เริ่มยื่นออกไปในทะเลมากขึ้น พอหลุมที่ 4 อยู่เกือบกลางอ่าวแล้ว หลุมนี้รับขยะได้ 12.3 ล้านตันและก็เต็มไปเมื่อปี พ.ศ. 2530 สำหรับหลุมฝังกลบที่ 5 เป็นส่วนที่ต่อเนื่องจากส่วนที่ 4 ยื่นออกไปในทะเล ส่วนนี้ยังไม่เต็ม จนถึงปี 2549 ฝังขยะไปแล้ว 52.7 ล้านตัน เมืองโตเกียวมีแผนขยายพื้นที่ฝังกลบออกไปในทะเลอีกเป็นหลุมฝังกลบขยะที่ 7 ซึ่งยื่นต่อออกไปจากหลุมฝังกลบที่ 5 หลุมที่ 7 นี้เริ่มฝังกลบขยะประมาณปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันฝังขยะไปแล้วกว่า 4 แสนตัน หลุมฝังกลบที่ 7 นี้มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือ 3,190,000 ตารางเมตร หลุมฝังกลบอีกหลุมหนึ่งคือหลุมที่ 6 นั้นสามารถรับขยะได้ประมาณ 1.7 แสนตัน และเต็มไปประมาณปี พ.ศ. 2536 สรุปก็คือตอนนี้ขยะที่โตเกียวจะมาฝังกลบที่หลุมที่ 5 และหลุมที่ 7 ซึ่งเป็นหลุมฝังกลบขยะแห่งสุดท้ายในบริเวณอ่าวโตเกียวนี้


รูปที่ 2 ที่ตั้งหลุมฝังกลบขยะของโตเกียวทั้ง 7 แห่ง
ที่มา : Tokyo Metropolitan Government Landfill Site: Outer Central Breakwater Landfill Site – New Sea Surface Disposal Site

            โตเกียวมีที่ดินไม่มากนัก เพราะญี่ปุ่นเป็นเกาะ ทำให้มีที่ฝังกลบขยะจำกัดไปด้วย พวกเขาจึงต้องหาทางที่จะทำให้หลุมฝังกลบที่มีอยู่ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้ยินว่าสำหรับหลุมฝังกลบแห่งสุดท้ายนี้พวกเขาอยากจะใช้ต่อไปให้ได้อีก 50 ปี ด้วยเหตุนี้แหละ พวกเขาถึงต้องคุมกำเนิดขยะที่จะเข้าไปที่หลุมฝังกลบ

 
รูปที่ 3 เจ้าหน้าที่กำลังฝังกลบขยะ ส่วนหนึ่งในพื้นที่หลุมฝังกลบที่ 5


รูปที่ 4 ปล่องระบายก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นข้างในหลุทฝังกลบ ปกติก๊าซมีเทนจะถูกเก็บไปใช้ แต่ที่หลุ่ม 5 นี้ก๊าซที่ออกมาไม่เหมาะกับการนำไปใช้ เลยต้องปล่อยทิ้งไปเฉยๆ


รูปที่ 5 เจ้าหน้าที่ฝังกลบขี้เถ้ารองพื้นหลุมส่วนหนึ่งในบริเวณหลุมฝังกลบที่ 7

สวนป่ากลางทะเล

            ใช่ หลังจากฝังขยะจนเต็มแล้ว พวกเขาตั้งใจจะทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสถานที่พักผ่อนให้กับชาวโตเกียว เขาจะเอาดินมาคลุมด้านบนหลุมฝังกลบแล้วปลูกต้นไม้ หลุมที่กำลังปรับปรุงพื้นที่และเริ่มปลูกต้นไม้ไปบ้างแล้วคือหลุมฝังกลบที่ 4 รูปที่ 6 คือสภาพปัจจุบันถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2009 ส่วนรูปที่ 7 คือภาพสวนป่ากลางทะเลที่เขาตั้งใจทำให้เกิดขึ้นภายใน 30 ปี


รูปที่ 6 ภาพปัจจุบันของสวนสาธารณะกลางทะเล เริ่มมีการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่


รูปที่ 7 ภาพร่างสวนสาธารณะกลางทะเลที่เสร็จสมบูรณ์
ที่มา : Bureau of Port and Harbor Tokyo Metropolitan Government

รีไซเคิลกันเถอะ

            กลับมาที่เรื่องคุมกำเนิดขยะอีกที เพื่อให้มีขยะที่ต้องฝังกลบ พวกเขาได้ผลักดันให้ชาวโตเกียวรีไซเคิลขยะให้มากขึ้น มีการออกกฎหมายให้รีไซเคิลนู้นนี่หลายฉบับเชียวแหละ เช่น กฎหมายรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ในบ้านเรือน กฎหมายรีไซเคิลเศษอาหาร กฎหมายรีไซเคิลซากรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานแล้ว เป็นต้น ขยะรีไซเคิลจะต้องมีการคัดแยก จัดเก็บ และส่งไปจัดการแยกออกไปต่างหาก อย่างไรก็ตามการรีไซเคิลอาจชะลอการเกิดขยะได้ ที่สำคัญวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลมักจะด้อยคุณภาพกว่าตอนเริ่มต้น ดังนั้นจึงใช้ทำของแบบเดิมไม่ได้ ต้องใช้ทำของที่ด้อยกว่าลงไป พวกของรีไซเคิลพวกนี้จะวนเวียนใช้ไปมาและสุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะอยู่ดี และอีกเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าที่จะทำให้เกิดการรีไซเคิลอย่างกว้างขวางได้คือเรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ เพราะการสร้างโรงงานรีไซเคิลต้องใช้เงินลงทุน การประกอบการต้องใช้คนงาน และของที่รีไซเคิลออกมาก็ต้องขายได้ด้วย ถึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน เขาว่าการลงทุนโรงงานรีไซเคิลที่ญี่ปุ่นไม่คุ้มนะ ตัวอย่างเช่น การรีไซเคิลพลาสติกเพทที่ใช้ทำขวดน้ำใส ๆ เขาว่าถ้าเก็บรวบรวมแล้วส่งเข้าโรงงานรีไซเคิลในญี่ปุ่น แล้วผลิตออกมาเป็นขวดใหม่หรือเป็นสินค้าใหม่ เช่น เสื้อผ้า มันจะไม่คุ้ม เพราะสินค้าที่ผลิตได้จะมีราคาแพงมาก เนื่องจากต้นทุนสูง พอราคาแพงคนก็ไม่ซื้อ  รีไซเคิลติดหล่มซะแล้ว อย่างนี้จะทำยังไงกันดีละ?

            พวกเขาเลยต้องคิดต่อให้ครบวงจร และคำตอบที่พวกเขาได้คือ การทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของวัสดุเหล่านี้ไปยังที่ที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างคุ้มค่าเงินลงทุน

ยุทธศาสตร์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

            กลางปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ซึ่งมีเรื่องการสร้างวงจรการใช้วัสดุที่ยั่งยืนผ่านการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะ ให้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเริ่มต้นที่ภูมิภาคเอเชียก่อน วัตถุประสงค์ของเรื่องนี้ประกอบด้วย ส่งเสริมให้เกิดการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะในประเทศต่าง ๆ ลดอุปสรรคขัดขวางการเคลื่อนย้ายวัสดุระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือในหมู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และประสานความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อให้เกิดผลตามที่ตั้งไว้ ได้มีการกำหนดแผนการทำงานไว้ 3 ด้านดังนี้ ด้านที่ 1 การสร้างความตระหนักในเรื่องการไม่ทำให้เกิดขยะในประเทศญี่ปุ่นและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน  ด้านที่ 2 การสนับสนุนให้เกิดสังคมหรือชุมชนที่ไม่ผลิตขยะในประเทศกำลังพัฒนา และด้านที่ 3 คือการสร้างความตระหนักในเรื่องการไม่ทำให้เกิดขยะในระดับสากล

            กิจกรรมที่ญี่ปุ่นเข้ามาสนับสนุนหรือส่งเสริมในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น การช่วยจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเรื่องการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะ ในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ การเจรจาเกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้กับประเทศเกาหลีและจีน (ดูรูปที่ 8 ประกอบ)


รูปที่ 8 กิจกรรมส่งเสริมการสร้างวงจรการใช้วัสดุที่ยั่งยืนผ่านการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะ ของญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศเอเชีย
ที่มา : Hidetoshi Kimura, 2007. Implementation of the 3Rs, Presentation document, presented on Senior Officials Meeting on the 3Rs Initiative, 4 October 2007

ภาพในฝัน

            กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่นวางภาพสังคมเอเชียที่ยังยืนบนพื้นฐานการลด การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ว่าจะเป็นสังคมที่มีความตระหนักต่อปัญหาขยะร่วมกัน อันจะเป็นแรงขับดันให้เกิดกระแสรีไซเคิลขยะและมีการเคลื่อนย้ายหรือค้าขายขยะระหว่างกันได้อย่างคล่องตัวขึ้น ตามกลไกตลาด สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจมีเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ล้าหลัง ญี่ปุ่นพร้อมจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจรีไซเคิล เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านเทคโนโยลีให้กับประเทศเหล่านี้ (รูปที่ 9)


รูปที่ 9 แนวคิดการสร้างสังคมเอเชียที่ยั่งยืนของสภาอุตสาหกรรมแห่งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
ที่มา : International management of recyclable resources in Asian region, Presentation document by Aya Yshida, Toshiya Aramaki and Keisuke Hanaki of Department of Urban Engineering, University of Tokyo

            แน่นอนว่าเมื่อสภาพสังคมที่มีการหมุนเวียนขยะจากที่หนึ่ง ไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลอีกที่หนึ่ง แล้วส่งสินค้าไปขายอีกที่หนึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแล้ว ขยะที่โตเกียวที่จะตรงไปที่หลุมฝังกลบแห่งสุดท้ายกลางอ่าวโตเกียวคงจะน้อยลงไปมากที่เดียว

            ทีนี้ เธอก็รู้แล้วใช่ไหมว่า ทำไมขี้เถ้าจากเมืองญี่ปุ่นอย่างฉันถึงมาที่เมืองไทยได้

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - แบตเตอรี่รถยนต์ : รีไซเคิลได้ ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - ธุรกิจรีไซเคิล... แบบไหนที่ประเทศไทยต้องการ
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - ถ้าเราเปลี่ยน โลกของเราก็เปลี่ยน
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - ของเสียอันตรายจากบ้านเรือน อันตรายถ้าจัดการไม่ถูกวิธี
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:4

That's relaly thinking at an impressive level

โดย:  Rachel  [19 ม.ค. 2556 14:57]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:5

ขยะพลาสติก ที่เผาเป็น ขี้เถ้าแล้วมีผลเสีย ต่อสิ่งแวดล้อมไหม ครับ

โดย:  คาล  [25 ก.ย. 2566 06:41]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น