สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

บทเรียนจากเหตุการณ์คาร์บอนไดซัลไฟด์รั่วที่โรงงานไทยเรยอน

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 21 ธ.ค. 2552

            ทุกครั้งที่เกิดอุบัติภัยจากสารเคมี การนำเสนอข่าวทางสื่อมวลชน เป็นโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้และเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นโอกาสที่สื่อมวลชนให้ความสนใจและเป็นโอกาสที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้แถลงหรือชี้แจงการแก้ปัญหาและบทบาทของตน ทั้งหมดนี้คือโอกาสของการเรียนรู้จากเหตุการณ์ภายในระยะ 2 - 3 เดือนมานี้ ก็บังเอิญมีอุบัติภัยจากสารเคมีรายงานทางสื่อไม่น้อยกว่า 3 เหตุการณ์ ล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 มีรายงานข่าวว่า มีแก๊สรั่วที่โรงงานไทยเรยอน สระบุรี เป็นเหตุให้วิศวกรบาดเจ็บ 4 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ทั้งๆ ที่โรงงานเพิ่งจะทดสอบหลังซ่อมบำรุงเสร็จ เมื่อเริ่มเปิดใช้ระบบมีสัญญาณเตือนว่ามีคาร์บอนไดซัลไฟด์ในบางจุดสะสมมากผิดปกติ จึงเกิดการเผชิญเหตุดังกล่าว จากรายงานสื่อนอกจากคาร์บอนไดซัลไฟด์แล้วยังมีชื่อสารอีกชนิดหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึงคือ แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือแก๊สไข่เน่าด้วย เป็นไปได้ว่าเนื่องจากในกรรมวิธีการผลิตคาร์บอนไดซัลไฟด์จากปฏิกิริยาระหว่างแก๊สธรรมชาติ (มีเทน) กับกำมะถันนั้น จะให้ไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เป็นปัญหาด้วย คาร์บอนไดซัลไฟด์นั้นนำไปใช้ในการผลิตเรยอน ส่วนไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งนั้นจะถูกแยกออกและนำไปผ่านกรรมวิธีให้ได้กำมะถันกลับคืนมาใช้ใหม่ได้

            เหตุการณ์อุบัติภัยจากสารเคมีทุกครั้งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนราคาแพง ที่สมควรนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บทความนี้มุ่งมั่นให้ชวนคิดเพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจว่า การเผชิญเหตุฉุกเฉิน และการป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมีต้องการความพิเศษอะไรบ้าง ซึ่งไม่สามารถพิจารณาใช้วิธีการเยี่ยงอุบัติภัยทั่วไปอย่างเช่น ไฟไหม้ หรือน้ำมันหกรั่วไหลได้ การวิเคราะห์หาสาเหตุในที่นี้จึงไม่ใช่การวิเคราะห์หาคนผิด แต่จะชี้ถึงช่องว่างบางประการที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อความรู้ความเข้าใจของคนทั่วไป รวมทั้งช่องทางให้แก่ผู้ปฏิบัติรวมทั้งผู้รับผิดชอบระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องด้วย

            ครั้งนี้อาจจะดูว่าเป็นอุบัติภัยจากสารเคมีที่ไม่ใหญ่โตหรือส่งผลกระจายในวงกว้างเช่นเดียวกับหลายๆ เหตุการณ์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ ตัวอย่างเช่น การเกิดเพลิงไหม้ท่าเรือคลองเตยในปี 2534 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนแออัดหลายราย เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดซ้ำขึ้นอีกที่ชุมชนริมทางรถไฟคลองเตยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 30 หลังคาเรือน ต้องอพยพชาวบ้านเพราะเกิดควันพิษจากบ้านไม้ 2 ชั้น ซึ่งใช้เป็นที่แบ่งบรรจุสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต อุบัติภัยจากแก๊สแอมโมเนียรั่ว ส่วนใหญ่จากโรงงานผลิตน้ำแข็งหรือสถานประกอบการอาหารแช่แข็ง นับเป็นอุบัติภัยซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าอุบัติภัยจากสารชนิดอื่น กรณีรถบรรทุกสารอะคริโลไนไตร์คว่ำบนทางด่วนเมื่อเดือนกันยายน 2544 เกิดการรั่วไหลจนต้องอพยพประชาชนโดยรอบ ล้วนแต่มีคำถามในเรื่องการเผชิญเหตุฉุกเฉินและการป้องกันทั้งสั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดซ้ำหรือหากเกิดขึ้นก็สามารถจัดการได้อย่างถูกต้องทันกาล

            สำหรับการจัดการกับเหตุฉุกเฉินนั้น ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างฉับไว บ่อยครั้งที่ผู้เชี่ยวชาญไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อการตัดสินใจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นอุบัติภัยจากสารเคมีต้องถือเป็นกรณีพิเศษที่ต้องการผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีไม่มากนัก เจ้าหน้าที่เฉพาะต้องเข้าไปในพื้นที่และทำให้ได้อย่างปลอดภัยโดยมีอุปกรณ์ป้องกันครบ รัฐต้องพัฒนาบุคลากรด้านนี้ และยังต้องมีสิ่งจูงใจและตอบแทนอื่นๆที่ชดเชยกับความเสี่ยงเหล่านั้นด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ประเมินสถานการณ์จึงเป็นจุดวิกฤตสำหรับผู้ตัดสินใจว่าควรสั่งการอย่างไรในภาวะคับขันเช่นนั้น ผู้ตัดสินใจต้องเข้าใจสถานการณ์และเหตุเกิดเป็นการเฉพาะ ในกรณีของโรงงานก็ต้องมีการกำหนดว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจอะไรได้บ้าง รู้ว่าโรงงานใช้สารเคมีอะไรที่เสี่ยง เสี่ยงอย่างไร มีแผนรับมือกับเหตุการณ์ล่วงหน้า อุปกรณ์เผชิญเหตุมีเพียงพอหรือไม่ หากต้องขอความช่วยเหลือ ต้องขอจากใคร เมื่อรู้ว่าสารใดอันตรายและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ต้องมียาแก้พิษพร้อม ไม่เฉพาะตัวโรงงานเท่านั้นที่จำเป็นต้องดูแลอยู่แล้ว ทำอย่างไรผู้ปฏิบัติในท้องที่รวมทั้งชุมชนด้วย จึงจะรู้ว่าเขากำลังเสี่ยงกับอะไร ทำอย่างไรชุมชนจะช่วยเฝ้าระวังตนเองเพื่อลดอุบัติเหตุลงได้ เช่น กรณีชุมชนริมทางรถไฟคลองเตย ที่ควรเป็นหูเป็นตาว่าในพื้นที่ของตนเองไม่มีการลักลอบทำกิจกรรรมอันตรายดังกล่าวสถานพยาบาล โรงพยาบาลในพื้นที่เมื่อทราบว่ามีความเสี่ยงกับสารเคมีใดโดยเฉพาะก็ควรมีแผนรองรับเพื่อช่วยชีวิตผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมีด้วย ในเหตุการณ์แบบนี้ทำให้เห็นความสำคัญของศูนย์พิษวิทยา ที่มีความสามารถเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านพิษวิทยาได้ทันกาล ในแผนแม่บทความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2549) ได้ให้ความสำคัญกับศูนย์พิษวิทยาที่ประเทศไทยควรจะมีไว้ด้วย

            การป้องกันภัยนั้นย่อมดีกว่าวัวหายล้อมคอกแน่ๆ ปัญหาคือข้อมูลหรือความรู้อะไรที่จำเป็น การผลิตและการใช้สารเคมีมักขาดแคลนข้อมูลความปลอดภัยและโอกาสการรับสัมผัสสารเคมีนั้นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขาดข้อมูลสารเคมีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของสารเคมี เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการควบคุมสารอันตรายได้ การขาดข้อมูลโอกาสที่จะสัมผัสกับสาร (exposure) และข้อมูลการใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เราไม่สามารถจัดการกับสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฏหมายความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability Law) และระบบการชดเชยความเสียหายทางสุขภาพของแรงงานด้วย

            การป้องกันอุบัติภัยนั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ ณ จุดตั้งต้น หมายถึง โรงงานต้องมีสารรบบสารเคมี (Chemical Inventory) และข้อมูลความปลอดภัยของสารทุกตัว รู้วิธีจัดการกับมันทั้งยามปกติและยามฉุกเฉิน วิธีเก็บ วิธีใช้ เช่นกรณีของคาร์บอนไดซัลไฟด์นี้ ถังเก็บจะอยู่ในบ่อที่ต่ำกว่าพื้นดินและมีน้ำหล่อ หากเกิดรั่วไหลก็จะไหลลงสู่ใต้ระดับน้ำ เป็นการป้องกันการระเหยออกสู่บรรยากาศ เพื่อไม่ให้ลุกติดไฟและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การจัดการกับสารแต่ละชนิดมีความเฉพาะตัวอยู่มาก ไม่สามารถใช้วิธีการธรรมดาทั่วไปกับสารเคมีทุกชนิดได้ ในพื้นที่รอบๆ โรงงานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทำอย่างไรชุมชนโดยรอบจะคำนึงถึงความเสี่ยง รู้ว่าควรจัดการกับตัวเองแค่ไหนอย่างไร แผนที่การกระจายของสารเคมีในพื้นที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ การที่จะทำให้เกิดแผนที่ดังว่า ต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งภาครัรฐ ภาคเอกชน และดังตัวอย่างที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ (www.chemtrack.org ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนับสนุนโดย สกว.)

            ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะนำแนวคิดการส่งผ่านข้อมูลความปลอดภัยสารเคมีจากผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ระบบการจัดการสารเคมีที่มีอยู่ของไทย สามารถกำกับดูแลสารเคมีได้ครบถ้วนหรือยัง พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกฏระเบียบและทิศทางการจัดการสารเคมีของโลกหรือยัง เพราะกระแสโลกขณะนี้ประเด็นเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ห่วงใยจนไม่อาจแยกออกจากประเด็นการค้าระหว่างประเทศได้เลย

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon disulfide
Hydrogen sulfide
Methane
Sulfur
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
เรียนรู้จากข่าว - สารออร์แกนนิค เปอร์ออกไซด์ฟุ้ง
เรียนรู้จากข่าว - แก๊สพิษรั่ว! โรงงานนวนคร
เรียนรู้จากข่าว - คลอรีนรั่ว
เรียนรู้จากข่าว - ก๊าซคิวมีนรั่ว
เรียนรู้จากข่าว - คาร์บอนไดซัลไฟด์จากโรงงานไทยเรยอน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ขอให้ทำงานดี

โดย:  โบว์  [24 ม.ค. 2553 16:21]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:7

That kind of thniikng shows you're on top of your game

โดย:  Yotzyatzhiwiiee  [28 ต.ค. 2555 13:01]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น