การที่มนุษย์มิได้อยู่กับธรรมชาติเหมือนอย่างเช่นในอดีต เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายกิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น รูโหว่ในบรรยากาศชั้นโอโซนจากการใช้สาร CFC ภาวะโลกร้อน ความแปรปรวนของฤดูกาล หรือภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมและพายุ หรือสิ่งมีชีวิตที่มีความผิดแปลกไป เช่น จิ้งจกสีแดง ปลาสองหัว เป็นต้น สัตว์แปลกๆเหล่านี้อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทุกๆส่วนทั้งดิน น้ำ และอากาศ สำหรับวัสดุนาโนซึ่งเป็นสารใหม่ ซึ่งแม้ว่าเริ่มมีการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นพิษออกมาบ้างว่า วัสดุนาโนมีความเป็นพิษต่อเซลของสัตว์ทดลองในระดับต่างๆขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดและปริมาณของวัสดุนาโนที่ได้รับ แต่การทดลองดังกล่าวยังเป็นการทดลองเพียงแง่มุมเดียวเท่านั้น คือในกรณีที่สัตว์ทดลองนั้นๆ ได้รับวัสดุนาโนโดยตรงในปริมาณมากในคราวเดียว ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้กับคนงานในโรงงานผลิตวัสดุนาโน เมื่อพิจารณาถึงอีกแง่มุมหนึ่งคือการแพร่กระจายของวัสดุนาโนสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อวัสดุนาโนถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของสินค้าชนิดต่างๆ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมิได้ตะหนักถึงการปนเปื้อนของวัสดุนาโนสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัสดุนาโนอาจจะยังมิได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรงในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่การปนเปื้อนของวัสดุนาโนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้งาน อาจทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศน์ทั้งที่อาศัยอยู่ในดิน ในน้ำ และในอากาศ ได้รับผลกระทบจากวัสดุนาโนทีละน้อยจึงยากที่จะสังเกตได้ อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในระบบนิเวศน์ย่อมเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าปริมาณการใช้วัสดุนาโนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการศึกษาวิจัยถึงผลของอนุภาคนาโนต่อระบบนิเวศน์ ตัวอย่าง เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์ของอนุภาคนาโนไทเนียมไดออกไซด์ ซิลิกา และซิงก์ออกไซด์ ในสภาพที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ โดยศึกษาปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ได้แก่ ความเข้มข้นของสารแขวนลอยทั้ง 3 ชนิด ขนาดของอนุภาคนาโน และการกระตุ้นด้วยแสง โดยใช้แบคทีเรีย 2 ชนิด เป็นตัวแทนของแบคทีเรียในธรรมชาติ ได้แก่ Gram-negative E.Coli และ Gram-positive B.subtilis ผลการวิจัยพบว่า ความเป็นพิษต่อแบคทีเรียเรียงลำดับได้ดังนี้คือ ซิงก์ออกไซด์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมากที่สุด รองลงคือไทเทเนียมไดออกไซด์ และซิลิกา นอกจากนี้ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า อนุภาคนาโนที่มีขนาดเล็กและการกระตุ้นด้วยแสง มีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมากขึ้น เช่น ซิงก์ออกไซด์ขนาด 480 นาโนเมตร ที่ระดับความเข้มข้นเพียง 10 ppm ในสภาวะที่มีแสง สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 90 จากตัวอย่างของผลการวิจัยหากเป็นการนำอนุภาคนาโนมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสำหรับผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งนั้น ทั้งผู้จำหน่ายและผู้บริโภคคงบรรลุถึงประโยชน์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ตามสมบัติที่ต้องการจากอนุภาคนาโน แต่ในแง่มุมของการจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคนาโนเป็นองค์ประกอบที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งานแล้วนั้น ยังมิได้มีการควบคุมว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อมิให้อนุภาคนาโนแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เช่น แบคทีเรียทั้งที่มีประโยชน์และมีโทษ ดังนั้นเราคงต้องตระหนักว่าความเจริญด้านเทคโนโลยีอาจเป็นความเสื่อมของคุณภาพชีวิต เมื่ออากาศ อาหาร ดินและน้ำเต็มไปด้วยสิ่งปนเปื้อน
เอกสารอ้างอิง
Adams, L.K., Lyon, D.Y.& Alvarez P.J.J.; Comparative eco-toxicity of nanoscale TiO2 , SiO2 and ZnO water suspension. Water Research 40, 3527-3532 (2006). |