สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

สรุปสถานการณ์มลพิษปี 51 ดีขึ้น เพียงเล็กน้อย

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่: 31 ธ.ค. 2551

            นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทยประจำปี 2551 ว่า ภาพรวมทั่วไปถือว่าค่อนข้างดีขึ้น ดังนี้ สถานการณ์คุณภาพน้ำ พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้เพิ่มขึ้น เช่น แม่น้ำเสียว ตรัง ลำตะคองตอนบน พอง ชี ลำปาว และแควใหญ่ มีคุณภาพน้ำเปลี่ยนระดับเป็นเกณฑ์ดี ส่วนแม่น้ำลำตะคองตอนล่าง คุณภาพน้ำยกระดับจากเสื่อมโทรมมากเป็นระดับเสื่อมโทรม ส่วนแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมในปี 2550 แล้วเปลี่ยนเป็นเสื่อมโทรมมากในปี 2551 ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาจากน้ำทิ้งชุมชน คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนภาพรวมคุณภาพน้ำทะเลทั่วประเทศ พบว่าสารแขวนลอยและโลหะหนักสูงเกินค่ามาตรฐานน้ำทะเล สำหรับสถานการณ์คุณภาพอากาศและระดับเสียง ในภาพรวมดีขึ้น ปัญหามลพิษหลัก คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน

            "คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ พบปัญหาปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก เกินมาตรฐาน พื้นที่ที่พบปัญหา ได้แก่ ถนนดินแดง ถนนพระราม 6 ถนนพระราม 4 ถนนราชปรารภ ถนนพิษณุโลก ถนนสุขุมวิท ถนนเยาวราช ถนนสามเสน ถนนสุขาภิบาล 1 เป็นต้น ในพื้นที่ต่างจังหวัด ปัญหาหลักคือ ฝุ่นขนาดเล็ก พื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี แต่รุนแรงน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สถานการณ์ระดับเสียง พบว่าระดับเสียงริมเส้นทางจราจรและพื้นที่ทั่วไปใน กทม. มีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย บริเวณที่มีค่าเกินมาตรฐาน 70 เดซิเบลเอ ทุกวัน คือ ถนนตรีเพชร ถนนลาดพร้าว" นายสุพัฒน์กล่าว

            นายสุพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ขยะกากของเสีย พบว่ามีขยะที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องประมาณ 15,444 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 37 ของปริมาณขยะทั่วประเทศ ในเขตกรุงเทพมหานครสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ทั้งหมด ในเขตเทศบาลเมืองและเมืองพัทยามีสถานที่กำจัดมูลฝอยที่ถูกหลักสุขาภิบาลและสามารถเดินระบบได้แล้วจำนวน 107 แห่ง สามารถกำจัดได้ประมาณ 5,240 ตันต่อวันส่วนนอกเขตเทศบาล สามารถกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาลได้เพียง 1,234 ตันต่อวัน ส่วนของเสียอันตราย คาดว่าจะมีปริมาณของเสียอันตรายเกิดขึ้นประมาณ 1.862 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 เพียง 16,500 ตัน โดยของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมประมาณ 1.45 ล้านตัน และจากชุมชนประมาณ 0.41 ล้านตัน

            "สำหรับสถานการณ์สารอันตราย พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีทั้งสิ้น 1,650 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีด้านอุตสาหกรรม 202 ราย และผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 1,448 ราย มีอุบัติภัยจากสารเคมีในปี 2551 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 29 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุจาก โรงงานอุตสาหกรรมและโกดังเก็บสารเคมี 14 ครั้ง การขนส่งสารเคมี 6 ครั้ง และการลักลอบทิ้งสารเคมีและของเสียอันตราย 9 ครั้ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย และผู้เสียชีวิต 4 ราย" นายสุพัฒน์ กล่าว

            นายสุพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า การร้องเรียนปัญหามลพิษมายังกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 พฤศจิกายน 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 468 เรื่อง ซึ่งลดลงจากปี 2550 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 84 เรื่อง ปัญหามลพิษที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ร้อยละ 82 รองลงมาเป็นปัญหาน้ำเสีย ร้อยละ 11 และปัญหากากของเสีย ร้อยละ 3 ตามลำดับ จังหวัดที่มีร้องเรียนมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร โดยช่องทางที่ประชาชนใช้ในการร้องเรียนมากที่สุด คือ โทรศัพท์ ร้อยละ 41 รองลงมาคืออินเตอร์เน็ต ร้อยละ 33 และทางจดหมาย ร้อยละ 20 ตามลำดับ

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Ozone
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - กรมควบคุมมลพิษเผยแม่น้ำหลายสายวิกฤติ
บอกข่าวเล่าความ - คพ.เตือนกรุงเทพฝุ่นและโอโซนสูงเกินมาตรฐาน
บอกข่าวเล่าความ - แม่น้ำชีวิกฤต เหตุโรงงานแอบปล่อยน้ำเสีย
บอกข่าวเล่าความ - คพ.สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด
บอกข่าวเล่าความ - ชาวบ้านสาทรเดือดร้อน จากควันพิษโรงงานเหล็ก
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น