สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คู่มือสรุปการปฏิบัติตามระเบียบ REACH

ผู้เขียน: คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป
วันที่: 4 ส.ค. 2552

            ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการศึกษาวิธีการปฏิบัติตามระเบียบ REACH สามารถดูคู่มือสรุปซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบ REACH ที่เข้าใจได้ง่ายในเว็บไซต์ขององค์กรเคมีภัณฑ์ยุโรป โดยคู่มือสรุปล่าสุดที่ออกมาและน่าสนใจ ได้แก่ คู่มือสำหรับผู้ผลิตสินค้าที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และสารเคมีนั้นจะถูกแพร่กระจายออกมาในระหว่างการใช้งาน และคู่มือสรุปเกี่ยวกับการเตรียมแฟ้มข้อมูลเพื่อจดทะเบียนสารเคมี

            เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 องค์กรเคมีภัณฑ์ยุโรป (European Chemicals Agency หรือ ECHA) ได้ออกคู่มือสรุป (Guidance in a Nutshell) สำหรับการปฏิบัติตามระเบียบ REACH จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่

            1. คู่มือสรุปสำหรับสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ (Requirements for substances in articles)

            2. คู่มือสรุปสำหรับการเตรียมแฟ้มข้อมูลเพื่อจดทะเบียนสารเคมี (Registration data and dossier handling)

            นอกจากนี้ ยังได้ออก Factsheet สารเคมีที่จะถูกรวมอยู่ใน Annex XIV ของระเบียบ REACH ซึ่งหมายถึงสารเคมีที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนการใช้งาน ซึ่งสามารถดูข้อมูลคู่มือสรุปและ Factsheet ดังกล่าวได้ที่ http://echa.europa.eu/doc/press/na_09_09_new_concise_guidance_20090624.pdf

            คู่มือสรุปเป็นแนวทางที่จะทำให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติโดยคร่าวในเรื่องนั้นๆ ส่วนคู่มือฉบับเต็มสามารถดูได้ที่ http://guidance.echa.europa.eu/ ซึ่งจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคู่มือการปฏิบัติตามระเบียบ REACH ในด้านต่างๆ และคู่มือฉบับเต็มจะปรากฏอยู่ในส่วนที่เป็น Technical Guidance Documents

            สาระสำคัญของคู่มือสรุปสำหรับสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ (Substances in articles) มีข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตสินค้าที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป โดยจะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าสินค้าที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบนั้นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบ REACH อย่างไร เพื่อที่จะสามารถจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปได้

            ทั้งนี้ ผู้ผลิตสินค้านอกสหภาพยุโรปจะต้องประสานงานกับผู้นำเข้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการดำเนินการตามระเบียบ REACH ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐของสหภาพยุโรป อาทิ การจดทะเบียน การแจ้ง (Notification) กรณีการใช้สารที่มีความเป็นอันตรายสูง ล้วนต้องให้ผู้นำเข้าภายในสหภาพยุโรปเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น นอกจากว่า ผู้ประกอบการไทยจะจัดจ้างตัวแทน (Only Representative) ในการดำเนินการ โดยหลักการในเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าควรให้ความสำคัญคือ

1. การจดทะเบียนสารเคมี (Registration) พิจารณาดูว่าสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการจดทะเบียนก่อนหรือไม่ โดยคำนึงถึงปัจจัย 2 ประการ ได้แก่

            - สารเคมีนั้นจะแพร่กระจายออกมาในระหว่างการใช้งานตามปกติหรือไม่ อาทิ กลิ่นหอมที่แพร่ออกมาจากของเล่น

            - ปริมาณของสารเคมีในผลิตภัณฑ์ที่แพร่กระจายออกมาในระหว่างการใช้งานตามปกติมีปริมาณมากกว่า 1 ตันต่อปีหรือไม่

            ทั้งนี้ การจดทะเบียนสารเคมีอาจไม่จำเป็นต้องกระทำหากว่า ได้มีผู้จดทะเบียนสารเคมีชนิดนั้นแล้วและได้ระบุวัตถุประสงค์การใช้งานในลักษณะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ของท่าน ซึ่งวิธีการตรวจสอบว่าสารเคมีชนิดใดได้รับการจดทะเบียนแล้วบ้างสามารถดูได้ที่คู่มือในด้านนี้ (Guidance on substance identification) ได้ที่ http://guidance.echa.europa.eu/docs/guidance_document/substance_id_en.htm

2. การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Notification) ต่อ ECHA หากมีปัจจัย 2 ประการ ได้แก่

            - สารเคมีที่ใช้นั้นอยู่ในรายชื่อสารเคมีที่จะต้องได้รับอนุญาตก่อนการใช้งาน (Candidate list) สามารถตรวจสอบว่าสารเคมีอยู่ใน Candidate list หรือไม่ ได้ที่ http://echa.europa.eu/chem_data/authorisation_process/candidate_list_table_en.asp 

            - สารเคมีที่ใช้นั้นมีความเข้มข้นมากกว่า 0.1% (w/w) ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ และะเมื่อรวมผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกทั้งหมดแล้วมีปริมาณเกิน 1 ตันต่อปี

3. การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Communication of Information)

            - ผู้ที่เป็น Suppliers สินค้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อ 2. จะต้องแจ้งข้อมูลป้องกันความปลอดภัย (safety information) แก่ผู้รับสินค้า (ในที่นี้หมายถึงผู้รับสินค้าที่เป็นภาคอุตสาหกรรม การใช้เพื่อวิชาชีพ และผู้จัดจำหน่าย ไม่ใช่ผู้บริโภค)หรืออย่างน้อยต้องระบุชื่อสารเคมีต่อผู้รับ

            - นอกจากนี้ หากผู้บริโภคร้องขอข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัย ก็จะต้องสามารถให้ข้อมูลได้ภายใน 45 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

            ทั้งนี้ การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เป็นข้อบังคับทั่วไปที่ไม่เชื่อมโยงกับน้ำหนักของสารเคมี สามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ REACH เพิ่มเติมได้ที่ http://echa.europa.eu/home_en.asp

ที่มาของข้อมูล : เว็บไซต์ไทยยุโรปดอตเน็ต www.thaieurope.net

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ECHA เพิ่มช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ REACH
บอกข่าวเล่าความ - สรุปรายงานการประชุม REACH Competent Authorities
บอกข่าวเล่าความ - ECHA เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเรื่อง REACH
บอกข่าวเล่าความ - ปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบ REACH
บอกข่าวเล่าความ - บทเรียนหลังจากระเบียบ REACH มีผลบังคับใช้
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น