สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่: 6 ส.ค. 2552

            นอกจากภาคอุตสาหกรรม และพลังงานจะตกเป็นจำเลย ข้อหาปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ภาคเกษตรกรรมก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้เช่นกัน ไม่ว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อแผ้วถางที่ทำกิน การเผาป่า เผาตอซัง เพื่อเพาะปลูก ซึ่งล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์เช่นกัน

            10 อันดับประเทศที่ได้ชื่อว่า ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก นับแต่ปี 2493 หรือในระยะ 60 ปี ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 186,100 ล้านตัน 2.สหภาพยุโรป 127,800 ล้านตัน 3.รัสเซีย 68,400 ล้านตัน 4.จีน 57,600 ล้านตัน 5.ญี่ปุ่น 31,200 ล้านตัน 6.ยูเครน 21,700 ล้านตัน 7.อินเดีย 15,500 ล้านตัน 8.แคนาดา 14,900 ล้านตัน 9.โปแลนด์ 14,400 ล้านตัน 10.คาซัคสถาน 10,100 ล้านตัน 11.แอฟริกาใต้ 8,500 ล้านตัน 12.เม็กซิโก 7,800 ล้านตัน 13.ออสเตรเลีย 7,600 ล้านตัน ประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ากำหนด ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามกฎคือลดปริมาณการปล่อยก๊าซ หากลดไม่ได้ก็ต้องไปซื้อสิทธิจากประเทศที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องลด หรือที่เรียกว่า คาร์บอน เครดิต (Carbon Credit)

            ในส่วนของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในอันดับ 22 ของโลกด้วยปริมาณ 344 ล้านตัน หรือ 1% ของการปล่อยรวม เทียบแล้วน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศข้างต้น ทำให้ไทยไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

            ทิศทางการเกษตรในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (ปี 2553-2555) สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุ่มงบประมาณ 1,774 ล้านบาท ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ 722,000 ไร่ ทั้งในพื้นที่ราบ ที่ดอน และที่สูง นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินวางกรอบการแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้ 3 โครงการ ดังนี้

            1. โครงการรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว ข้าวโพด อ้อย ในพื้นที่ 122,000 ไร่

            2. โครงการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก ไผ่หวาน ไผ่ตง มะกอกน้ำ มะขามเปรี้ยว มะม่วงแก้ว ยูคาลิปตัส ยางนา สัก ประดู่ มะค่า กระถินเทพา กระถินณรงค์ สนประดิพัทธ์ โดยมุ่งปลูกในพื้นที่ดอน 450,000ไร่ เช่น พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ทิ้งร้าง พื้นที่ของสำนักงานพัฒนาที่ดิน ตลอดจนบนพื้นที่คันนา หรือตามแนวเขตพื้นที่

            3. โครงการลดการเผาพื้นที่เกษตรบนพื้นที่โล่งเตียน เน้นเฉพาะ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแพร่ในพื้นที่ 150,000 ไร่ ซึ่งสภาพพื้นที่เป็นเนินเขา และเทือกเขาสูงชัน มีเนื้อที่ประมาณ 54 ล้านไร่ หรือ 50% ของทั้งภาค และมีการทำลายพื้นที่ป่าไม้รุนแรงกลายเป็นพื้นที่โล่งเตียน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ไม่ว่าการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เบื้องล่าง หรือการเกิดภาวะโลกร้อน

            ทั้งนี้ การไถกลบตอซังแทน เกษตรกรจะได้รับประโยชน์มากมาย เพราะไถกลบตอซังข้าวที่แห้ง 1.6 ตัน/ไร่ สามารถเพิ่มอินทรีย์คาร์บอนในดินได้ 800 กิโลกรัม-คาร์บอน/ไร่ ทั้งโครงการจะเพิ่มอินทรีย์คาร์บอนในดินได้ 97,600 ตันคาร์บอน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ ปรับปรุงโครงสร้างดินให้โปร่ง ร่วนซุย อุ้มน้ำดีขึ้น เพิ่มธาตุอาหารสำคัญในดิน ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม (NPK) คิดเป็นมูลค่า 900 บาท/ไร่ เท่ากับช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมี ตัวการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกด้วย ลาก แถมคาร์บอนในรูปอินทรียวัตถุในดินก็พลอยหายไปกับน้ำด้วย

            นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ กล่าวย้ำว่า การปลูกไม้ยืนต้นทั้ง มะคาเดเมีย ลิ้นจี่ ลำไย ผลการศึกษาพบว่า ไม้เนื้อแข็งตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 10 ปี ในพื้นที่ 1 ไร่ เฉลี่ย 400 ตันสามารถเก็บคาร์บอนไว้ในดินได้ 8.6 ตันคาร์บอน กรณีนี้พื้นที่ปลูก 150,000 ไร่ เท่ากับเก็บคาร์บอนได้มากถึง 1.29 ล้านตัน ในอีก 10 ปีข้างหน้า การลดก๊าซเรือนกระจกทางด้านการเกษตรจะนำไปสู่ประโยชน์ของประเทศในหลายด้าน อาทิ การเพิ่มความสมบูรณ์ของดินส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การลดต้นทุนการผลิตดังกรณีลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงการค้าคาร์บอนเครดิตในอนาคตที่ไทยมีโอกาสมาก ในฐานะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยสามารถหยิบยกเรื่องนี้ไปขายให้ประเทศอื่นได้ ซึ่งทุกวันนี้มีภาคเอกชนไทยขายคาร์บอนเครดิตกันแล้ว

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Nitrous oxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพ กลับทำให้โลกร้อนขึ้น
บอกข่าวเล่าความ - แนะชาวไร่ปลูกถั่วแทนเผาซากอ้อย แถมช่วยลดโลกร้อนอีกทาง
บอกข่าวเล่าความ - เตือนประชาชนงดเผาตอซังข้าว ชี้มีแต่ผลเสีย
บอกข่าวเล่าความ - รณรงค์เกษตรกรปรับคุณภาพดินแทนเผาตอซังข้าว
บอกข่าวเล่าความ - เกษตรกรแนะหยุดเผาตอซังข้าว ช่วยลดภาวะโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น