สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ปล่อยน้ำจากนาก่อนข้าวออกดอก ช่วยลดโลกร้อน

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 31 ส.ค. 2552

            นักศึกษา JGSEE ศึกษาแนวทางลดก๊าซมีเทนจากนาข้าว ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งในภาคเกษตร เผยการปล่อยน้ำออกจากนาก่อนข้าวออกดอกช่วงลดก๊าซมีเทนได้เกือบ 50% แนะปลูกข้าวนาปรัง ไม่เผาตอซังฟางข้าว แยกฟางข้าวออกจากนา ไถกลบเฉพาะตอซัง ช่วยเพิ่มปุ๋ยให้ดิน และลดโลกร้อนได้พร้อมๆ กัน
       
            ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรเป็นสัดส่วน 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แม้อาจมองว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ที่ปล่อยออกจากภาคเกษตรคือ ก๊าซมีเทน ซึ่งมีความร้อนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า น.ส.ทัศนีย์ เจียรพสุอนันท์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกจากนาข้าว
       
            น.ส.ทัศนีย์ เจียรพสุอนันท์ กล่าวว่า การจัดการนาข้าวหลังการเก็บเกี่ยว โดยวิธีเผาฟางข้าวที่เหลือในที่โล่ง ทำให้เกิดมลภาวะฝุ่นควัน เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง แล้วยังปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาตอซังฟางข้าว และเปลี่ยนมาสนับสนุนการไถกลบตอซังฟางข้าวลงไปในดิน เพื่อลดมลภาวะทางอากาศและเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน
       
            อย่างไรก็ตามจากรายงานทางวิชาการได้ระบุว่าการเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน หรือการไถกลบตอซังฟางข้าวลงไปจะยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่บรรยากาศ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินจะย่อยสลายของธาตุอาหารและผลิตก๊าซมีเทนเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณธาตุอาหาร ซึ่งการจัดการน้ำในนาข้าว โดยการปล่อยน้ำออกจากนาในบางช่วงของการปลูกข้าวจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ ทั้งนี้จากการทำวิจัยการเปรียบเทียบวัฏจักรคาร์บอนในนาข้าวของเธอทำให้ทราบว่าควรปล่อยน้ำออกจากนาในช่วงเวลาใด
       
            จากการเฝ้าติดตามและเก็บตัวอย่างก๊าซที่ปล่อยออกมาจากนาข้าว พบว่าช่วงที่ข้าวปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด คือ ช่วงเวลาที่ข้าวออกดอก การจัดการเพิ่มลดการปล่อยก๊าซมีเทนทำได้โดยการปรับสภาพดินในนาให้แห้ง ไม่มีน้ำท่วมหน้าดิน หรือทำให้เกิดสภาพมีออกซิเจน ด้วยการปล่อยน้ำออกเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วง 3-5 วันก่อนข้าวออกดอก เนื่องจากกลไกการสร้างก๊าซมีเทน จะเกิดเมื่อจุลินทรีย์ย่อยสลายธาตุอาหารในสภาพไร้ออกซิเจน ดังนั้นการเพิ่มออกซิเจนให้กับดินนาจึงทำให้จุลินทรีย์ลดการสร้างก๊าซมีเทนลงได้ การจัดการด้วยวิธีนี้จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้มากเกือบ 50% และส่งผลกระทบต่อผลผลิตไม่ถึง 1% น.ส. ทัศนีย์ เจียรพสุอนันท์ เผย
       
            นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณก๊าซมีเทนที่ลดลงเมื่อมีการจัดการน้ำระหว่างการไถกลบทั้งตอซังและฟางข้าว และการไถกลบเฉพาะตอซัง พบว่าการจัดการน้ำช่วยการปล่อยก๊าซมีเทนในแปลงที่ไถกลบทั้งตอซังและฟางข้าว 49% เนื่องจากปริมาณของอินทรียสารที่ไถกลบลงไปมีมาก จึงสามารถลดการปล่อยก๊าซได้มากเมื่อเปรียบเทียบการเมื่อไม่มีการจัดการน้ำ ในขณะที่แปลงที่ไถกลบเฉพาะตอซังลดลง 32% จะเห็นว่าการจัดการน้ำในแปลงที่ไถกลบเฉพาะตอซังช่วยลดก๊าซมีเทนได้ไม่มากนัก เพราะอินทรียสารที่ไถกลบไม่มากเท่ากับกรณีแรกนั่นเอง
       
            อย่างไรก็ดี จากการเปรียบเทียบดังกล่าว น.ส. ทัศนีย์ ให้ข้อคิดเห็นว่า ชาวนาไม่ควรไถกลบทั้งตอซังและฟางข้าว แม้ว่าจะมีวิธีการจัดการให้สามารถลดก๊าซมีเทนได้มากก็ตาม เพราะในทางปฏิบัติการนำฟางข้าวออกจากนาก่อน แล้วจึงไถกลบเฉพาะตอซัง ชาวนาสามารถนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกหลายทาง เช่น นำไปใช้เป็นวัสดุปลูกพืช ปลูกเห็ด ใช้ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือแม้แต่นำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบชีวมวล ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการลดโลกร้อน ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวได้มีหน่วยงาน และแปลงนาบางแห่งนำไปทดลองใช้แล้ว หากเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ดีน่าจะมีการเผยแพร่การจัดการน้ำและดินนาในรูปแบบนี้ให้กว้างขวางออกไป

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Methane
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - แนะชาวไร่ปลูกถั่วแทนเผาซากอ้อย แถมช่วยลดโลกร้อนอีกทาง
บอกข่าวเล่าความ - เตือนประชาชนงดเผาตอซังข้าว ชี้มีแต่ผลเสีย
บอกข่าวเล่าความ - รณรงค์เกษตรกรปรับคุณภาพดินแทนเผาตอซังข้าว
บอกข่าวเล่าความ - เกษตรกรแนะหยุดเผาตอซังข้าว ช่วยลดภาวะโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น