สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

โลกร้อนส่งผลคุกคามคนลุ่มน้ำโขง

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
วันที่: 6 ต.ค. 2552

            กองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) เผยแพร่รายงานการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก 2009 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ (5 ตุลาคม 2552) ที่ผ่านมา โดยระบุการเปลี่ยนรูปแบบของสภาพอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงแล้ว ขณะปัญหาโลกร้อนยังคุกคามชีวิตคนอีกหลายล้านที่อยู่ในภูมิภาคนี้

            รายงานขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งนี้ชี้ว่า อุทกภัยรุนแรงและภัยแล้ง, การกัดเซาะชายฝั่ง, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคลื่นความร้อนที่จะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ ส่งผลกระทบถึงผลผลิตข้าว, ผลไม้และกาแฟ รวมไปถึงการทำประมง ซึ่งเป็นปัจจัยเลี้ยงชีวิตของผู้คนจำนวนมากในกลุ่มประชากรลุ่มแม่น้ำโขง 65 ล้านคน

            ทั่วทั้งภูมิภาคนี้อุณหภูมิกำลังเพิ่มขึ้น และได้เพิ่มขึ้นแล้ว 0.5 - 1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างถึงข้อความในรายงาน

            กองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในขณะที่หลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้จะมีฤดูฝนที่สั้นลง แต่คาดว่าปริมาณน้ำฝนโดยรวมกลับจะเพิ่มขึ้น หมายความว่าฝนที่ตกก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะคุกคามต่อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มตามมา

            พื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่รายงานนี้กล่าวถึงนั้น นับรวมตั้งแต่ที่ราบสูงทิเบตในจีนลงมายังพม่า, ไทย, ลาว,  กัมพูชา  และเวียดนาม จากนั้นได้ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

            สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นแหล่งปลูกข้าวราวครึ่งหนึ่งของเวียดนาม และเป็นแหล่งผลิตกุ้งประมาณ 60% แต่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำเค็มหนุน ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและอาจทำให้เกษตรกรไร้ที่ทำกิน ส่วนประชากรจำนวนมากอาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามแนวชายฝั่งและในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง เช่น ในนครโฮจิมินห์ซิตี, ฮานอย และกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่ออุทกภัย, การรุกล้ำปนเปื้อนของน้ำเค็ม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

            จากรายงานนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดถี่ขึ้นจะสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ต่อชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำหนักหน่วงขึ้นด้วย อุณหภูมิสูงขึ้นได้ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดขนาดลง ขณะที่พายุ, น้ำท่วม และภัยแล้ง กำลังทำลายผลผลิตทั่วทั้งลุ่มน้ำโขง การขาดแคลนน้ำจะจำกัดการผลิตภาคเกษตร และคุกคามต่อความมั่นคงทางด้านอาหารด้วย

            บรรดาผู้แทนจากประมาณ 180 ประเทศ กำลังประชุมกันที่สำนักงานยูเอ็นในกรุงเทพฯ เพื่อพยายามหาความตกลงร่วมกัน ในการขยับขยายความร่วมมือต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยพวกเจ้าหน้าที่กำลังพยายามนิยามเนื้อหาที่จะใช้เป็นพื้นฐานของการทำสนธิสัญญาว่าด้วยโลกร้อนฉบับใหม่ ที่ยูเอ็นหวังว่าจะสามารถหาความเห็นพ้องต้องกันได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้

            ประเด็นหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของข้อตกลงฉบับใหม่นี้ คือการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจนในการปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

            ขณะที่ด้านนอกศูนย์การประชุมของยูเอ็น ได้มีชาวนาไทย, เกษตรกร, ชาวประมง และชนพื้นเมืองจากหลายประเทศ อาทิเช่น ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และเนปาล รวมประมาณ 2,000 คน มาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยทุ่มเทมากขึ้นในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

            เรามาที่นี่เพื่อถ่ายทอดเสียงของชาวนาต่อยูเอ็น ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจากประเทศอินโดนีเซียตะโกนอยู่ด้านนอกศูนย์ประชุมของยูเอ็น

            ประเทศกำลังพัฒนากล่าวโทษชาติร่ำรวยว่า ไม่ยอมริเริ่มด้วยการทำข้อตกลงลดระดับการปล่อยก๊าซให้หนักหน่วงกว่านี้ และต้องการให้ประเทศร่ำรวยรับปากทุ่มเงินนับพันล้านดอลลาร์ช่วยชาติยากจน ให้ปรับตัวรับผลกระทบและสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Methane
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ภัยเงียบจากคาร์บอนส่งผลให้เกิดทะเลกรดคุกคามโลก
บอกข่าวเล่าความ - UN ระบุก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้น
บอกข่าวเล่าความ - ภาวะโลกร้อน : จะรุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้
บอกข่าวเล่าความ - ประเทศไทยกับการรับมือเรื่องโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น