สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้อง เลิกนำเข้าผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 1 ธ.ค. 2552

            แพทย์ระบุ กระเบื้อง ท่อซีเมนต์ ผ้าเบรก มีส่วนประกอบแร่ใยหิน เสี่ยงต่อสารก่อมะเร็ง ทำให้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ เตือนพบเจือปนในฝุ่นก่อสร้างสูงสุด นักวิชาการสาธารณสุขวอนหยุดใช้สารนี้ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ชี้อเมริกาเลิกใช้มากว่า 30 ปีแล้ว เผยบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง ยังใช้อยู่ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตรียมเรียกร้องกระทรวงอุตสาหกรรมให้ยับยั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน
       
            นพ. พรชัย สิทธิศรันย์กุล อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างกว่า 90% เช่น การผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ ผ้าเบรค คลัตช์ กระเบื้องปูพื้น วัสดุกันไฟหรือฉนวนกันความร้อน ซึ่งบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินโดยตรงกลุ่มแรกก็คือพนักงานที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ หากอยู่กับการผลิตที่ต้องใช้ส่วนผสมของแร่ใยหินเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดโรคหลายอย่างตามมา เช่น โรคปอดอักเสบ โรคความผิดปรกติของเยื้อหุ้มปอด หรือเป็นเนื้องอกของเยื้อหุ้มปอด โรคมะเร็งกล่องเสียงและโรคมะเร็งปอด ซึ่งในประเทศไทยได้พบผู้ที่ป่วยจากสารแอสเบสตอสแล้ว1 ราย
       
            สิ่งที่อันตรายที่สุดคือตอนนี้แร่ใยหินถูกทำให้กระจายอยู่ในอากาศจากการก่อสร้าง หากสูดควันหรือฝุ่นที่มีแร่ใยหินเจือปนอยู่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้มีการติดป้ายฉลากบอกว่าสินค้าชนิดใดบ้างที่มีส่วนผสมของแร่ชนิดนี้ และต้องเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างให้หันมาตระหนักถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตคนหมู่มาก นพ. พรชัย สิทธิศรันย์กุล กล่าวเพิ่มเติม
       
            น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดการประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับการประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก (ฉบับที่27) พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะมีการทำหนังสือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือยับยั้งการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน พร้อมกับสนับสนุนให้ติดฉลากสินค้าที่ปลอดจากการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ

            นางมาลี พงษ์โสภณ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฟุ้งกระจายของฝุ่นที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะสามารถกระจายอยู่ได้ในทุกที่ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยอย่างน้อย 90,000 คนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด หรือโรคปอดอักเสบ จากแร่ใยหินที่เกิดจากการทำงาน และมีผู้ป่วยอีกหลายพันคนที่ป่วยโดยไม่ได้สัมผัสแร่ชนิดนี้โดยตรงจากการทำงาน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรประกาศให้หยุดใช้แร่ชนิดนี้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เพราะในสหรัฐอเมริกาได้เลิกใช้สารชนิดนี้มาแล้วกว่า 30 ปี โดยใช้วัตถุดิบทางเลือกอื่นมาทดแทน ซึ่งขณะนี้มีบางบริษัทในประเทศไทยได้นำวิธีการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างที่ปลอดภัยมาใช้แล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ถึง 3 แห่ง ที่ยังใช้แร่ใยหินอยู่ในปริมาณมาก

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Asbestos
Silicon Dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ไทยจะ Ban แอสเบสตอสอีก 3 รายการ
บอกข่าวเล่าความ - อันตรายจากโรคปอดหิน เป็นแล้วเสียชีวิตภายใน 1 เดือน
บอกข่าวเล่าความ - กรมควบคุมโรครณรงค์ให้ความรู้ ผู้ป่วยโรคปอดหิน
บอกข่าวเล่าความ - ท่อนาโนคาร์บอน ก่อมะเร็งได้เทียบเท่าแร่ใยหิน
บอกข่าวเล่าความ - อย. แจงผลตรวจแร่ใยหินปนเปื้อนในเครื่องสำอาง
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

แพทย์ใหญ่ “ย้ำชัด” ยังไม่พบคนไทยเสียชีวิตเพราะ…..แร่ใยหิน!!

“ทีแรกรู้สึกดีใจว่าวงการแพทย์ไทยจะได้พบโรคเหตุใยหินจริงจังเสียที แต่เมื่อได้อ่านรายงานที่อ้างในวารสารแล้ว จึงมีความเห็นว่า ข้อมูลของผู้ป่วย ที่วินิจฉัยว่าเสียชีวิตจากแร่ใยหินนั้น เป็นแต่เพียงมีประวัติเคยทำงานในโรงงาน ใช้ใยหินเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าโรคที่มีสาเหตุจากใยหิน ดังนั้นจะไม่ขอรับว่าผู้ป่วย ๒ รายนั้นเป็นโรคเหตุใยหิน”

วงการแพทย์ป่วน หลังบทความชิ้นหนึ่งในวารสารแพทยสมาคมฉบับหนึ่งถูกเผยแพร่ โดยมีการกล่าวอ้างถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วย ๒ รายว่ามีสาเหตุจากแร่ใยหิน แต่ แพทย์นักวิชาการมีความเห็นว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้ง ๒ ราย ไม่มีสาเหตุจาก ใยหิน ตามที่กล่าวอ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้(๑) มีการนำรายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ป่วย ๒ ราย(๒) ซึ่งอ้างว่ามีสาเหตุมาจากการทำงานสัมผัสใยหิน มีเนื้อความว่าพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และโรคปอดใยหิน ซึ่งบทความดังกล่าวไม่ได้ให้หลักฐานการวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน จึงอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด ว่าใยหินชนิดไครโซไทล์ที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมไทยมาเนิ่นนานแล้ว ก่ออันตรายแก่คนไทย

ต่อมาได้ข่าวว่ามีแพทย์นักวิชาการอดีตผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งการเผยแพร่ข้อมูล กล่าวอ้างดังกล่าวนี้ พร้อมเปิดเผยข้อเท็จจริงยืนยันไว้ในบทความชื่อ “ตายเพราะใยหิน?” ในวารสารวิชาการฉบับหนึ่ง โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ดังนี้

ข้อมูลที่ถูกตีพิมพ์ในจดหมายเหตุทางการแพทย์ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เล่มปีที่ ๙๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ฉบับผนวก หน้า เอส ๗๑ – เอส ๗๖ อ้างว่าเคยมีรายงานผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อม (mesothelioma) ที่เป็นรายแรกที่เกิดจากทำงานสัมผัสใยหิน และเสียชีวิต (๓) แต่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีหลักฐานสาเหตุไม่เพียงพอ (๔) และไม่เคยมีผลการศึกษามะเร็งเยื่อเลื่อมทางพยาธิวิทยาสนับสนุน (๕) ประกอบกับความรู้ด้านสมุฏฐานวิทยาระบุว่ามะเร็งเยื่อเลื่อมเกิดจากสาเหตุอื่นได้หลายอย่าง แม้กระทั่งการ สูบบุหรี่ (๕)

“ผู้ป่วยที่รายงานว่าเป็นโรคสาเหตุใยหินอีก ๒ รายนั้น(๒) ขอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยรายแรกเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม (mesothelioma) จริง และรายที่ ๒ เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่และมีแผลเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มปอดเก่า ทั้ง ๒ ราย ไม่เป็นโรคจากสัมผัสใยหิน เป็นเพียงมีประวัติเคยทำงานในโรงงานใช้ใยหินเท่านั้น เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า มีสาเหตุจากใยหิน จึงไม่ขอรับว่าผู้ป่วย ๒ รายนี้เป็นโรคเหตุใยหิน” ข้อมูลนี้ได้จากบทความที่กำลังลงพิมพ์ในวารสารการแพทย์

สมชัย บวรกิตติ พ.ด.

ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน

เอกสารอ้างอิง

๑. อดุลย์ บัณฑุกุล. บทความ “เสียชีวิตจากแร่ใยหิน” อ้างในคอลัมน์ส่องโรคไขสุขภาพ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ หน้า ๑๐.

๒. พงษ์ลดา สุพรรณชาติ, ณรงค์ภณ ทุมวิภาต, สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์. จดหมายเหตุทางแพทย์ ๒๕๕๕; ๙๕ (ฉบับผนวก ๘): ส๗๑-ส๗๖.

๓. สุทธิพัฒน์ วงศ์วิทย์วิโชติ, ฉันทนา ผดุงทศ. เมโสเธลิโอมาเหตุอาชีพรายแรกของไทย. วารสารคลินิก ๒๕๕๑; ๒๘:๑๓๒-๖.

๔. สมชัย บวรกิตติ, อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ. กรณีอ้างอิงเมโสเธลิโอมา. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ๒๕๕๒; ๓: ๒๐๐-๒.

๕. ชีพสุมน สุทธิพินทะวงศ์, สมชัย บวรกิตติ. พยาธิวิทยาปริทัศน์เนื้องอกเยื่อเลื่อมในประเทศไทย. ธรรมศาสตร์เวชสาร ๒๕๕๔; ๑๑:๔๒๐-๖.

๖. สมชัย บวรกิตติ. เมโสเธลิโอมาที่ไม่ได้เกิดจากสัมผัสใยหิน. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ๒๕๕๔; ,๖-๘.

http://www.chrysotile.co.th

โดย:  chrysotile  [15 ก.พ. 2556 23:46]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น