สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

REDD กับโจทย์ของประเทศไทย

ผู้เขียน: บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หน่วยงาน: ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 16 ส.ค. 2552

            บทความนี้เกิดขึ้นจากคำถามน่าสนใจของนักข่าวสิ่งแวดล้อมของมติชนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “มีความเห็นอย่างไรหากประเทศไทยจะขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้จากกิจกรรม REDD ?”

            REDD เป็นคำย่อมาจากคำเต็มว่า Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Country (การลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา)  REDD เป็นกลไกใหม่ที่ถูกนำเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เนื่องจากมีข้อมูลว่า มีก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดังนั้นถ้าลดการทำลายป่า/ป่าเสื่อมโทรมได้จะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้มากทีเดียว

            ข้อเสนอเรื่อง REDD ถูกเสนออย่างเป็นทางการเข้าสู่เวทีเจรจาเรื่องโลกร้อนโดยประเทศปาปัวนิวกีนีและคอสตาริกาในปี 2548 โดยเสนอว่า หากจะลดปัญหาเรื่องนี้ก็ต้องมีกลไกสนับสนุนด้วย ประเทศกำลังพัฒนายังต้องพึ่งพาป่าเพื่อการดำรงชีพหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หลังจากนั้น การเจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่อง REDD ก็มีมาต่อเนื่องจนถึงในขณะนี้

            เรื่องที่พอจะตกลงกันได้แล้ว คือ การดำเนินงานเรื่อง REDD เป็นแบบสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบังคับ  (อย่างไรก็ตาม มีความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะผลักดันให้เชื่อมโยงเรื่อง REDD กับการให้ประเทศกำลังพัฒนามีพันธกรณีเพิ่มขึ้น)  สำหรับเรื่องขอบเขตกิจกรรมของ REDD ตอนนี้มีแนวโน้มไปสู่ทิศทางว่า นอกเหนือจากกิจกรรมลดการทำลายป่า ลดความเสื่อมโทรมของป่า จะรวมถึงกิจกรรมการปลูกหรือฟื้นฟูทำให้ป่าเพิ่มขึ้นเข้าไปด้วย ตอนนี้จึงเรียกกันว่าเป็น “REDD-Plus” เมื่อรวมเรื่องการปลูกหรือฟื้นฟูป่าเข้าไป จึงทำให้เกิดความสับสนกับเรื่องการปลูกหรือฟื้นฟูป่าตามกลไกเดิมที่มีอยู่ คือ โครงการ CDM

            ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่า มาตรการสนับสนุนกิจกรรม REDD จะใช้กลไกตลาด ให้มีการค้าขายคาร์บอนเครดิตแบบโครงการ CDM หรือจะใช้กลไกกองทุน หรือจะใช้ผสมกันทั้งสองแบบ ประเทศต่างๆ มีข้อคิดเห็นหลากหลายแตกต่างกันไป แต่ละแนวทางก็มีข้อดี-ข้อเสียที่ต้องพิจารณา

            ถ้าเลือกใช้กลไกกองทุน ก็มีการบ้านที่ต้องเจรจาและออกแบบว่า ทำอย่างไรจะให้มีเงินเข้ามาในกองทุนเพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมเรื่อง REDD ใครจะเป็นผู้จ่าย จ่ายอย่างไร ฯลฯ

            ถ้าเน้นใช้กลไกตลาด ให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ คาดว่าจะมีความต้องการสูง เนื่องจากต้นทุนเรื่อง REDD ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลดก๊าซในกิจกรรมอื่นๆ  หากประเทศที่พัฒนาแล้วมุ่งแต่มาซื้อคาร์บอนเครดิตจาก REDD โดยไม่ลดการปล่อยก๊าซในประเทศตนเอง ปัญหาโลกร้อนก็จะไม่ได้รับการแก้ไข

            สมมุติว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีพันธกรณีต้องลดก๊าซ 100 ล้านตันคาร์บอน  ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาพยายามรักษาป่าไม่ให้ถูกทำลายได้ 20 ล้านตันคาร์บอน (โดยไม่มีกิจกรรม REDD)  ทั้งโลกก็จะลดก๊าซไปได้ 120 ล้านตัน แต่ถ้าให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจาก REDD โดยไม่มีการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้วลดก๊าซในบ้านตัวเอง 80 ล้านตัน แล้วมาซื้อคาร์บอนเครดิตจาก REDD 20 ล้านตัน ก็ลดก๊าซได้ตามพันธกรณี แต่ทั้งโลกลดก๊าซเรือนกระจกไปได้ 100 ล้านตัน หากประเทศกำลังพัฒนาได้เงินมากขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตจาก REDD แต่ท้ายสุดต้องมาเผชิญกับปัญหาผลกระทบจากเรื่องโลกร้อน คงไม่ใช่ทางเลือกที่เราต้องการ

            ในกรณีประเทศไทย หากสนับสนุนการใช้กลไกตลาดกับเรื่อง REDD มีข้อต้องพิจารณาอีกด้วยว่า ในอนาคตประเทศไทยมีความเสี่ยงที่ต้องรับพันธกรณีการลดก๊าซเพียงใด หากมีพันธกรณีแล้ว จะลดก๊าซจากสาขาการผลิตใด เป็นจำนวนเท่าใด ในภาคป่าไม้จะช่วยลดได้เท่าใด ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้พิจารณาตัดสินใจได้ว่า เราต้องเก็บคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้สำรองไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่าใด มีเพียงพอสำหรับใช้ขายเครดิตหรือไม่ ในปริมาณเท่าใด และเปรียบเทียบรายได้/ต้นทุนจากการขายคาร์บอนเครดิตกับต้นทุนการลดก๊าซในสาขาอื่นๆ

            ในขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปเรื่อง REDD แต่กิจกรรมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ก็เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วในตลาดที่เรียกว่า “ตลาดภาคสมัครใจ” ตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างการซื้อขายคาร์บอนภาคป่าไม้ในโครงการ CDM กับ REDD และกับตลาดภาคสมัครใจ

            สำหรับโครงการ CDM ภาคป่าไม้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง มีขั้นตอนและการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก จึงมีโครงการที่ผ่านการประเมินเพียง 1 โครงการเท่านั้นอยู่ในประเทศจีน ส่วนกรณี REDD ก็ยังอยู่ในการเจรจา ยังไม่มีข้อยุติ แต่เริ่มมีการดำเนินในลักษณะเป็นโครงการนำร่อง ทดลองอยู่บ้างในหลายประเทศ

            ในกรณีตลาดคาร์บอนฯแบบสมัครใจ (Voluntary Carbon Market: VCM) นั้น เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ เป็นการดำเนินงานโดยภาคเอกชนตามความสมัครใจ เริ่มมีขึ้นประมาณปี 1989 และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ตลาด VCM ที่เป็นที่รู้จักกันในขณะนี้ เช่น Chicago Carbon Exchange (CCX) ในปัจจุบันตลาด VCM ยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต แต่ก็มีอัตราเติบโตที่น่าสนใจ จากข้อมูลในปี 2008 ตลาด VCM มีปริมาณ 123.4 ล้านตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 77% จากปี 2007 สำหรับในตลาด CCX โครงการภาคป่าไม้มีอยู่ 49 โครงการ มีอัตราเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2007 การเติบโตเพิ่มขึ้นนี้มีผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการเสนอร่างกฎหมายเรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกา (Clean Energy and Security Act 2009) ราคาซื้อขายคาร์บอนในโครงการภาคป่าไม้อยู่ที่ประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐ/ตันคาร์บอน

            ในประเทศไทย มีข้อมูลว่าการทำโครงการภาคป่าไม้สำหรับตลาด VCM เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ แต่ที่มีข้อมูลแน่ชัด คือ กรณีสวนป่าสักในจังหวัดสกลนครเพื่อขายสู่ตลาด CCX (มีข้อมูลล่าสุดว่าชาวบ้านยังไม่ขาย เนื่องจากราคาเสนอซื้อประมาณ 2 เหรียญสหรัฐ) 

            สิ่งเหล่านี้คือความเชื่อมโยงของประเด็น REDD ที่ต้องพิจารณาเชื่อมโยงกันเป็นภาพรวมอย่างเป็นระบบก่อนการตัดสินใจว่าประเทศไทยจะขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้จากกิจกรรม REDD หรือไม่

            การแก้ไขปัญหาการทำลายป่า การฟื้นฟูป่า เป็นเรื่องที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีกลไก REDD หรือไม่ก็ตาม หากมีมาตรการสนับสนุนจาก REDD ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ไปทำลายเป้าหมายหลัก คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศแหล่งกำเนิด เพื่อความอยู่รอดร่วมกันของโลก 

ที่มาของข้อมูล : โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Watch)

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - REDD อีกแนวคิดประเทศอุตฯ โบ้ยภาระลดโลกร้อนให้ชาติยากจน
บอกข่าวเล่าความ - โครงการจอมป่า ความสำเร็จบทแรกมูลนิธิสืบฯ
บอกข่าวเล่าความ - การเจรจาจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - ประเทศไทยกับการรับมือเรื่องโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

แล้ว กลไกกับมาตราการลดภาวะวิกฤติโลกร้อน(REDDs) มีอะไรบ้าง

โดย:  รักสิ่งแวดล้อม  [8 ก.พ. 2555 20:47]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

Okay I'm cnovicend. Let's put it to action.

โดย:  Venjoe  [25 ส.ค. 2555 05:30]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น